
วิหารหลังเล็ก
วิหารหลังเล็ก มีการสร้างประมาณ ๓๐๐ กว่าปี ถูกบูรณะมาหลายครั้งหลายคราว การบูรณะครั้งหลังสุด คือเจ้าแม่ทิพผสม ณ เชียงใหม่ ได้ทำการบูรณะจากของเดิมประมาณพุทธศักราช ๒๔๔๕ ในปีขาล จากการบอกเล่าของคนรุ่นก่อนๆ ให้พระเทพวิสุทธิคุณ ฟังว่า เดิมวิหารหลังนี้มี ๓ มุขด้วยกัน มุขหน้าหันหน้าไปทางทิศเหนือ มุขหลังหันหน้าไปทางทิศใต้ มุขข้างหน้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นศิลปกรรมแบบล้านนาไทย วิหารไม่ค่อยใหญ่และทึบไม่โปร่ง หน้าต่างเล็กๆ โดยมากเป็นลูกกรงกลึงด้วยด้วยไม้สัก จะเนื่องมาจากอะไรไม่ทราบ จะด้วยความประสงค์ของคนโบราณสมัยนั้น หรืออาจเป็นเพราะไม่อยากให้ใครเข้าไปรู้ไปเห็นของมีค่าก็ได้ ส่วนข้างในมีพระประธานอยู่ ๒ องค์ องค์หนึ่งหันหน้าไปทางทิศเหนือ ก่อด้วยอิฐและปูน หน้าตักกว้าง ๗ ศอก สูง ๙ ศอก (ซึ่งก่อด้วยปูนใหญ่มาก ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารหลังนี้มาตลอด ขณะนี้อายุประมาณ ๓๐๐ กว่าปีเศษ) อีกองค์หนึ่งหันหน้าไปทางทิศใต้ (หันหลังให้กัน) เป็นพระพุทธรูปเหลือง ต่อมาวิหารหลังนี้ถูกดัดแปลง แก้ไข สมัยครูบาหลาน อินต๊ะ ครูบาเทิ้ม ตัดมุขด้านหลังออก อาราธนาพระทองเหลืองขึ้นไปไว้บนวิหารหลังใหญ่ ปัจจุบันไม่รู้ว่าองค์ไหน เพราะในปัจจุบันวิหารใหญ่มีพระพุทธรูป ๓ องค์ด้วยกัน และได้ตัดมุขด้านข้างออกเสีย คงเหลือมุขด้านหน้าอย่างเดียว ขณะนี้ขึ้นอยู่ในบัญชีของกรมศิลปากร หน้าบันเป็นปูนปั้นแบบจั่วของโบราณ และมีการเสริมโดยการปั้นมอม ๒ ตัวไว้บันได้ สัตว์คู่บารมีของพระสมณโคดม อภัพพสัตว์เหล่านี้ ขอพรจากพระพุทธเจ้า โดยตั้งอธิฐานไว้ว่า ขอเอารูปเขาติดไว้ในพระพุทธศาสนานี้ด้วย ชาติต่อไปจะได้เป็นมนุษย์บวชในพระพุทธศาสนาได้ ล้านนาไทยเรียกว่า “มอม”รูปเหล่านี้จะอยู่ตามหน้าจั่ว หน้าบันของโบสถ์ วิหาร และหอไตรเท่านั้น สำหรับบานประตูใหญ่ ปั้นปูนแบบจั่วเป็นเทพพนม เป็นเอกลักษณ์ทางล้านนาไทย